top of page

ฆราวาสธรรม

            ฆราวาสธรรม หมายถึง การปฏิบัติตนเป็นฆราวาสที่ดี ซึ่งเป็น ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน มี ๔ ประการ คือ

            ๑. สัจจะ ความจริงใจ ความจริงจัง ตลอดจนความซื่อตรง ต่อกันและกัน สรุปรวมคือ "ความรับผิดชอบ" เป็นหลักสำคัญที่จะให้เกิดความไว้วางใจและไมตรีจิตสนิทต่อกันขาดสัจจะเมื่อใดย่อมเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงแคลงใจกันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร้าวฉาน ซึ่งยากนักที่จะประสานให้คืนดีได้ดังเดิม ซึ่งถ้ามีความรับผิดชอบในตนเอง หรือ แม้นแต่รับผิดชอบผู้อื่น ก็จะส่งผลให้เกิดความผาสุขได้ คนมีสัจจะจึงมักจะแสดงความรับผิดชอบออกมา ๔ ด้านคือ

                    ๑.๑ ด้านหน้าที่และการงาน ทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม หรือ แม้นแต่สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม

                    ๑.๒ ด้านคำพูด พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น และ ทำอย่างไร ก็พูดอย่างนั้น

.                   ๑.๓ ด้านการคบคน จริงใจไม่มีเหลี่ยมมีคู ว่ากันตรง ๆ ซื่อ ๆ จริงใจ ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ๔ ประการ ได้แก่ 
                                        - ไม่ลำเอียงเพราะรัก 
                                        - ไม่ลำเอียงเพราะชัง 
                                        - ไม่ลำเอียงเพราะโง่ 
                                        - ไม่ลำเอียงเพราะกลัว

                    ๑.๔ ด้านศีลธรรม ความดี ยึกหลักคุณธรรม ไม่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดประเพณี และ ผิดกฎหมายบ้านเมือง

            ๒. ทมะ การรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง มีความกระตือรือร้นในการเคี่ยวเข็นฝึกตนเอง บังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองมีทั้งความรู้ ความสามารถ และ ความดีเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน ๆ รู้จักฝึกฝนปรับปรุงตน แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับนิสัยและอัธยาศัยให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน คนที่ขาดธรรมข้อนี้ ย่อมปล่อยให้ข้อแตกต่างปลีกย่อยทางอุปนิสัยและการอบรม กลายเป็นเหตุแตกแยกสามัคคีใหญ่โต และถ้าไม่สามารถปรับตนเข้าหากันได้ ก็เป็นอันต้องทำลายชีวิตคู่ครองแยกทางขาดจากกัน การจะมีทมะในทางเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และ ความดีในเรื่องใด ๆ นั้น มีการปฏิบัติอยู่ ๔ ขั้นตอน คือ

                    ๒.๑ ต้องหาครูดีให้เจอ การเพิ่มพูดความรู้ความสามารถนั้น ก็ต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนั้นๆ หรือ อย่างน้อยก็ต้องมีหนังสือของผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นเพื่อที่จะศึกษา

                    ๒.๒ ต้องฟังคำครู ต้องตั้งใจฟัง ถามแล้วถามอีกจนกระทั่งจับประเด็น หรือ ความรู้ตกผลึก เพื่อจะได้นำไปใช้ได้อย่างลุ่มลึก 

                    ๒.๓ ต้องตรองตามคำครู นำเอาคำสอนเหล่านั้น มาทบทวนตรึกตรอง ถึงความลุ่มลึกของคำสอน การใช้งาน ผลดี ผลเสีย หรือแม้นแต่ข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อที่จะได้สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างถูกต้อง

                    ๒.๔ ต้องทำตามครู เมื่อมีความรู้ก็ต้องปฏิบัติให้เกิดผล ด้วยความมีสติรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทพลั้งเผลอจนอาจนำไปสู่ความเสียหาย ล้มเหลว ในบั้นปลายได้ "การฝึกใด ๆ ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนนิสัย ไม่ชื่อว่าเป็นการฝึกตน"

            ๓. ขันติ ความอดทน อดกลั้น ต่อความหนักและความร้ายแรงทั้งหลาย ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกัน นอกจากมีข้อแตกต่างขัดแย้งทางอุปนิสัย การอบรม และความต้องการบางอย่าง ซึ่งจะต้องหาทางปรับปรุงเข้าหากันแล้วบางรายอาจจะมีเหตุล่วงเกินรุนแรง แสดงออกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นถ้อยคำหรือกิริยาอาการ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไปความร้ายจึงจะระงับลงไป นอกจากนี้ ยังจะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ และเรื่องหนักใจต่าง ๆ ในการประกอบการงานอาชีพเป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ ความตกต่ำคับขัน ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีสติอดกลั้นคิดอุบายใช้ปัญญาหาทางแก้ไขเหตุการณ์ให้ลุล่วงไปด้วยดี ชีวิตของคู่ครองที่ขาดความอดทน ย่อมไม่อาจประคับประคองพากันให้รอดพ้นเหตุร้ายต่างๆ อันเป็นประดุจมรสุมแห่งชีวิตไปได้ ความอดทนพื้นฐานใน ๔ เรื่องต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ต้องเจอในชีวิตของเราโดยทั่วไป คือ

                    ๓.๑ ต้องอดทนต่อธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย ทนทั้ง แดด ลม ฝน สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น

                    ๓.๒ ต้องอดทนต่อทุขเวทนา คือการทนต่อสภาพสังขารของตน เช่น การเจ็บป่วย ก็ไม่โวยวายคร่ำครวญจนเกินเหตุ เป็นต้น

                    ๓.๓ ต้องอดทนต่อการกระทบกระทั่ง คือการอดทนกับคนอื่น รวมถึง อดทนกับตนเองในเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจตนเอง การกระทบกระทั่งจิตใจตนเองด้วย

                    ๓.๔ ต้องอดทนต่อกิเลส คือการอดทนต่อนิสัยไม่ดีของเราเองไม่ให้ระบาดไปติดคนอื่น และ ต้องอดทนต่อการยั่วยุของอบายมุข ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอกที่พยายามกระตุ้นกิเลสในใจตนเอง อดทนต่อ อบายมุข ๖ คือ การดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวในสถานบันเทิงเริงรมย์ การเล่นพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร และ การเกรียจคร้านต่อหน้าที่การงาน

            ๔. จาคะ ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปันตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน นึกถึงส่วนรวมของครอบครัวเป็นใหญ่ ชีวิตบุคคลที่จะมีความสุข จะต้องรู้จักความเป็นผู้ให้ด้วย มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว การให้ในที่นี้ มิใช่หมายแต่เพียงการเผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งของอันเป็นเรื่องที่มองเห็นและเข้าใจได้ง่ายๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่กัน การแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตนได้ เช่น ในคราวที่คู่ครองประสบความทุกข์ ความเจ็บไข้ หรือมีธุระกิจใหญ่เป็นต้น ก็เสียสละความสุขความพอใจของตน ขวนขวายช่วยเหลือ เอาใจใส่ดูแล เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นกำลังส่งเสริม หรือช่วยให้กำลังใจได้โดยประการใดประการหนึ่ง ตามความเหมาะสมรวมความว่า เป็นผู้จิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว ชีวิตครอบครัวที่ขาดจาคะ ก็คล้ายการลงทุนที่ปราศจากผลกำไรมาเพิ่มเติม ส่วนที่มีมาแต่เดิมก็คงที่หรือค่อยร่อยหรอพร่องไป หรือเหมือนต้นไม้ที่มิได้รับการบำรุง ก็มีแต่อับเฉา ร่วงโรย ไม่มีความสดชื่นงอกงาม 

ความเสียสละ มี 3 ประเภทคือ
                    ๑. สละสิ่งของ
                    ๒. สละความสะดวกสบาย
                    ๓. สละอารมณ์ที่บูดเน่า ไม่เอามาเก็บฝังใจและเป็นพื้นฐานไปสู่การทำสมาธิ

            ซึ่งความเสียสละก็ต้องตั้งมั่นอยู่ในพื้นฐานของเหตุและผล ต้องรู้ถึงความแตกต่างของ "ความอยากได้เอาแต่ใจ" กับ "ความจำเป็นของครอบครัว" ว่า สิ่งใดควรที่จะทำก่อนหลังเป็นพื้นฐาน เพื่อจำกัดกำจัดความเห็นแก่ตัวของตนเอง และป้องกันความรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบของอีกฝ่าย

            ธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะดังกล่าวมานี้ มิใช่ประสงค์เป็นข้อปฏิบัติจำกัดเฉพาะในระหว่างคู่ครองเพียง ๒ คนเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้ใช้ทั่วไปในชีวิตการครองเรือนทั้งหมด โดยยึดถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานของจิตใจ ในการที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับคนทั้งหลายที่จะอยู่ร่วมหรือติดต่อเกี่ยวข้องกันให้เหมาะสมตามฐานะนั้น ๆ เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และแก่ชีวิตของคนอื่น ๆ ในสังคม

            ดังนั้น ชีวิตครองเรือน หรือ ชีวิตคู่ จึงต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน สามารถฝากฝี ฝากไข้ ฝากชีวิตไว้ด้วยกันได้ มีความรู้ ความสามารถ และ ความดีมากพอ ที่จะเลี้ยงครอบครัวให้สุขสบาย เลี้ยงลูกหลานให้เป็นคนดีสืบต่อไป ทั้งนี้ พื้นฐานการใช้ชีวิตหลังแต่งงาน ต้องอาศัยความเสียสละต่อกันและกันอย่างมาก ต้องเสียสละเพื่อการดูแลทั้งทางกาย และ จิตใจ รู้จักถนอมน้ำใจกันในยามปกติ รู้จักให้กำลังใจกัน ในยามเผชิญอุปสรรค รู้จักเตือนสติห้ามปรามกันในยามประมาท และ มีความซื่อสัตย์ต่อกันและกัน อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างนี้แล้ว ชีวิตครอบครัวก็จะมีแต่ความสุข ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

© 2023 by Little Tots Preschool.

Proudly created with Wix.com

bottom of page